มะเร็งเต้านม วิธีรักษา ข้อควรระวัง และลักษณะของโรค
ด้วยความที่มีหน้าตาสวย บุคลิกดี และหุ่นสูงเพรียว ทำให้แคทก้าวเข้าสู่วงการนางแบบอย่างไม่ยาก บวกกับความร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี มีมนุษยสัมพันธ์กับทุก ๆ คน ยิ่งโดยเฉพาะกับผู้จัดการส่วนตัวที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน นิสัยและรสนิยมการใช้ชีวิตที่คล้ายกัน โลกในวัย 27 ปีของเธอจึงมีแต่ความสวยงาม กระทั่งวันหนึ่งผู้จัดการส่วนตัวขอลางานไปโรงพยาบาลด้วยสีหน้าวิตกกังวล เพราะคลำเจอก้อนแข็งที่หน้าอก แพทย์ตรวจพบว่าเป็นอาการเปลี่ยนแปลงของต่อมเต้านม ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสตรี และสามารถหายได้เองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ซึ่งแพทย์เรียกภาวะแบบนี้ว่า Mastopathy
จากนั้น 1 เดือนผ่านไป ขณะที่แคทกำลังตรวจเช็กหน้าอกของตัวเองอย่างที่ทำเป็นประจำ เธอพบความผิดปกติเหมือนกับมีก้อนเนื้ออยู่ แต่นึกว่าตัวเองคงเป็น Mastopathy เช่นเดียวกับผู้จัดการส่วนตัวของเธอ จึงไม่คิดอะไรมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียงครึ่งปี ความผิดปกติก็เริ่มมากขึ้น เพราะเนื้องอกอ่อน ๆ นั้นมีลักษณะแข็งกว่าเดิม แคทคิดว่าหากประจำเดือนหมดแล้ว ก้อนเนื้อก็น่าจะหายไปด้วย แต่ด้วยความไม่มั่นใจ เธอจึงเข้าไปรับการตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาล ผลที่ออกมาเกือบทำให้เธอช็อก เพราะบอกถึงอาการเริ่มต้นของการป่วยเป็นมะเร็งเต้านม นับว่าโชคของเธอยังดีที่เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา จึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง
จะมีสักกี่คนที่โชคดีได้แบบแคท!
กลุ่มเสี่ยง
ผู้ที่มีพันูธุกรรมหรือมีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารไขมันเยอะ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ออกกำลังกาย นอกจากนี้ ผู้ที่ทานฮอร์โมนหรือใช้ครีมทาหน้าอกแบบใส่ฮอร์โมน หากใช้เกิน 5 ปี ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีโอกาสที่จะเป็นเพียง 0.7-1%
***มะเร็งเต้านมเกิดที่บริเวณเมมโมรีแกรนด์***
อาการที่พึงระวัง
รู้สึกว่ามีความผิดปกติที่บริเวณหน้าอกหรือสีผิวผิดปกติ เดิมเคยมีผิวเนียนก็จะหยาบเหมือนผิวส้มโอ คล้าย ๆ กับผื่น ลมพิษ รูขุมขนหยาบขึ้น หรือดูจากทิศของหัวนม เช่น เดิมชี้ทิศนี้แล้วเปลี่ยนไปอีกทิศหนึ่ง ปกติมันจะต้องชี้ไปทิศทางเดียวกัน หรือทางเดิม หากหัวนมบุ๋มเข้าไปต้องดูว่าเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือไม่ หากเพิ่งเป็นถือว่ามีความเสี่ยง
ปัจจุบันพบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น 10,000 คนต่อปี สาเหตุสำคัญก็คือ การตระหนักถึงโรคภัยที่มีอยู่น้อยเกินไป เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงไม่เห็นถึงความสำคัญที่ว่า มะเร็งเต้านมเป็นโรคภัยที่อยู่ใกล้ตัว
ลักษณะของโรค
ภายในเต้านมประกอบไปด้วยโครงสร้างที่ใช้ผลิตน้ำนมและทางเดินน้ำนม สำหรับ Mastopathy เป็นการเปลี่ยนแปลงของต่อมบริเวณเต้านม ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสตรีที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือรู้สึกเหมือนมีอะไรแข็ง ๆ อยู่บริเวณภายใน ส่วนใหญ่สามารถหายได้เองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องรักษา
มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ ทำให้เกิดก้อนมะเร็งที่บริเวณต่อมน้ำนมหรือบริเวณอื่น ๆ ภายในเต้านม ซึ่งเป็นเซลล์ของท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ส่วนใหญ่จะเป็นท่อน้ำนมที่แบ่งตัวขึ้น ตามปกติในร่างกายของคนจะควบคุมได้นอกจากบางรายที่ร่างกายของคนจะควบคุมได้ นอกจากบางรายที่ร่างกายควบคุมไม่ได้ หากเป็นระยะแรก ๆ มะเร็งจะอยู่แค่ที่เต้านม แต่ถ้าทิ้งไว้นาน ๆ ลักษณะของมะเร็งจะสามารถกระจายไปที่อวัยวะอื่นได้
วิธีการรักษา
มะเร็งเต้านมมีโอกาสหายค่อนข้างสูงหากตรวจเจอตั้งแต่ระยะต้น ๆ และเมื่อตรวจเจอในระยะสงสัยว่าจะเป็น จะต้องทำการตรวจซ้ำทุก 6 เดือน ด้วยอัลตราซาวนด์และเมมโมแกรม หากผลการตรวจซ้ำยืนยันว่ามีการเปลี่ยนแปลงจึงจะเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจในกรณีที่ผลการตรวจชิ้นเนื้อปกติและการตรวจติดตามไปได้ 2 ปีแล้วไม่พบอะไร ก็แสดงว่าเป็นเนื้องอกธรรมดา จึงจะกลับไปใช้แผนการเฝ้าระวังมะเร็งเต้านมในคนปกติโดยการตรวจปีละครั้งได้
รู้ไว้ไกลโรค
1. งดอาหารที่มีไขมันเยอะ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์
2. ออกกำลังกายเพื่อทำให้ฮอร์โมนสมดุลขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งหนึ่งประมาณครึ่งชั่วโมง
3. ตรวจด้วยดัวเองอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ เดือน จะได้รู้ตัวแต่เนิ่น ๆ วิธีหัดเรียนรู้ความรู้สึกที่ได้จากการคลำง่าย ๆ ทำได้โดยวางเมล็ดถั่วเขียวลงบนพื้นโต๊ะแล้วคลุมด้วยแผ่นวัสดุนุ่ม ๆ บาง ๆ เช่น แผ่นบุก ฟองน้ำ กระดาษ หรือผ้าก็ได้ แล้วใช้นิ้วของฝ่ามือด้านในคลำเมล็ดถั่วผ่านแผ่นคลุม ความรู้สึกที่คลำได้เนื้องอกเต้านมระยะแรกก็จะคล้าย ๆ กัน
ยกแขนข้างที่จะคลำขึ้นก่อน กดบริเวณหัวนมทีละส่วน เพราะหากมีเลือดออกจะได้รู้ว่าออกมาจากส่วนไหน ถ้ามีเลือดออกแสดงว่ามีเนื้องอกในท่อน้ำนม จากนั้นคลำบริเวรรักแร้ ซึ่งมีต่อมน้ำเหลือง การคลำบริเวณนี้ต้องเอาแขนลง ควรคลำ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนวันแรก
4. การทำเมมโมแกรมหรือเอกซเรย์เต้านมอาจตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่ได้
แพทย์ผู้ให้ข้อมูล : ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน หัวหน้าศูนย์รักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 2